อีกหนึ่งชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ที่จะขาดไปไม่ได้คือ พวงมาลัยรถยนต์ โดยมีหน้าที่ใช้ในการควบคุมตัวรถให้ไปยังทิศที่กำหนด ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ของพวงมาลัยเป็นพวงมาลัยเพาเวอร์ และเมื่อรถถูกใช้งานเป็นเวลานานไปก็จะส่งผลทำให้มีอาการ พวงมาลัย ฝืด หรือ พวงมาลัย หนัก วันนี้มาดูกันว่าเพราะสาเหตุใดถึงทำให้ พวงมาลัย พาว เวอร์ หนัก
ทำความรู้จัก พวงมาลัยเพาเวอร์
ก่อนอื่นเลยมาทำความรู้จักกับพวงมาลัยเพาเวอร์กันก่อน สำหรับพวงมาลัยเพาเวอร์มีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Power Steering System ซึ่งเป็นระบบช่วยทดกำลังการหมุนของพวงมาลัย เพื่อช่วยทำให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมทิศทางของการหมุนพวงมาลัยได้ง่ายกว่าเดิม และยังมอบความนุ่มนวลที่ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากพวงมาลัยรุ่นเก่าที่จะมีความหนักและสามารถควบคุมทิศทางได้ค่อนข้างยาก โดยพวงมาลัยเพาเวอร์สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- พวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิก Hydraulic Power Steering ซึ่งจะใช้ระบบไฮดรอลิกในการส่งกำลังไปยังกระปุกพวงมาลัยเพาเวอร์ เพื่อทำให้ผ่อนแรงของผู้บังคับในขณะที่กำลังเลี้ยงพวงมาลัย ด้วยการใช้แรงจากเครื่องยนต์หมุนผ่านสายพานมายังปั๊มไฮดรอลิกก็จะมีข้อดีที่ทำให้พวงมาลัยมีความแม่นยำสูงและสามารถขับขี่พร้อมกับเข้าโค้งได้อย่างมั่นใจ
- พวงมาลัยเพาเวอร์ไฟฟ้า EPS (Electric Power Steering) เป็นพวงมาลัยไฟฟ้าที่ควบคุมการใช้งานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ทำให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมพวงมาลัยได้ง่ายขึ้น มีข้อดีในเมื่อเวลาที่ขับรถด้วยความเร็วต่ำจะส่งผลทำให้พวงมาลัยมีน้ำหนักที่ค่อนข้างเบา
พวงมาลัยเพาเวอร์มีหน้าที่อะไร
สำหรับหน้าที่พวงมาลัยเพาเวอร์เป็นระบบที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยทดกำลังการหมุนพวงมาลัยไปยังทิศทางต่าง ๆ ให้มีน้ำหนักที่เบาลง และยังช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมรถในความเร็วรอบต่ำได้อย่างราบรื่นและนุ่มนวล จึงทำให้ไม่ว่าจะเลี้ยวไปทางซ้ายหรือเลี้ยวไปทางขวาก็สามารถใช้มือหมุนพวงมาลัยด้วยการออกแรงที่ไม่มากและขับขี่ได้อย่างง่ายดายกว่าพวงมาลัยรูปแบบเก่า
พวงมาลัยเพาเวอร์หนักเกิดจากอะไร
ปัญหาของพวงมาลัยเพาเวอร์หนักสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน หากตรวจเช็กดูแล้วพวงมาลัยของรถคุณมีอาการแบบนี้แสดงว่าพวงมาลัยเพาเวอร์มีปัญหาและต้องทำการตรวจเช็กและเข้ารับการซ่อมในทันที โดยสาเหตุที่ทำให้พวงมาลัยเพาเวอร์หนักมี ดังนี้
- ลมยางอ่อน ในกรณีนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นได้กับรถที่จอดทิ้งไว้เป็นเวลานา จึงทำให้ลมยางยุบตัวและอ่อนลงอัตโนมัติ รวมทั้งยังสามารถทำให้ยางเสื่อมสมรรถภาพลงได้ และส่งผลทำให้เวลาที่ต้องการหมุนพวงมาลัยจะมีอาการฝืดและมีเสียงดังขึ้นมาทันที
- น้ำมันเพาเวอร์ต่ำ อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้พวงมาลัยเพาเวอร์หนักคือน้ำมันเพาเวอร์ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ขับขี่ควรหมั่นตรวจเช็กและเติมน้ำมันเพาเวอร์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามเกณฑ์
- ปั๊มไฮดรอลิกเสีย หากพบอาการพวงมาลัยมีเสียงดังสามารถสันนิษฐานได้ว่าปั๊มไฮดรอลิกเสียหาย จึงต้องทำการซ่อมแซมภายในและเปลี่ยนปั๊มทันที โดยปัญหานี้ควรหาช่างเฉพาะทางมาตรวจสอบจะดีที่สุด
- ศูนย์ล้อไม่เท่ากัน การตั้งศูนย์ล้อไม่เท่ากันก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พวงมาลัยเพาเวอร์หนักและเลี้ยวรถได้ยาก รวมทั้งยังส่งผลอันตรายในการขับขี่อีกด้วย ผู้ขับขี่ควรรีบนำรถไปตั้งศูนย์ล้อให้เท่ากันเพื่อการขับขี่ที่ปลอดภัย
- เลือกไซส์ยางเกินขนาด การเลือกใช้ขนาดยางที่เกินมาตรฐานกำหนดก็สามารถส่งผลทำให้พวงมาลัยหนักได้ รวมทั้งยังทำให้พวงมาลัยรถสั่นและมีเสียงฝืดได้อีกด้วย การขับขี่บนพื้นถนนก็จะทำให้ควบคุมยากมากกว่าปกติ
- น้ำมันเพาเวอร์รั่วซึม ปัญหานี้อาจทำให้น้ำมันในระบบไม่เพียงพอและยังทำให้การบังคับพวงมาลัยเป็นไปได้ยาก สิ่งสำคัญก่อนออกเดินทางทุกครั้งควรตรวจเช็กเครื่องยนต์ว่ามีการรั่วซึมหรือไม่
- เฟืองบังคับเลี้ยวขาดสารหล่อลื่น การขาดสารหล่อลื่นในส่วนของเฟืองบังคับเลี้ยวหรือสารหล่อลื่นในบริเวณนั้นไม่เพียงพอก็เป็นสาเหตุทำให้พวงมาลัยเพาเวอร์หนักได้
- อุปกรณ์บางอย่างชำรุด นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้พวงมาลัยเพาเวอร์หนักอาจมาจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์ชนิดใดชนิดหนึ่งเกิดชำรุด เช่น กระปุกพวงมาลัย ลูกหมาก หรือข้อต่อแกนพวงมาลัย ซึ่งทั้งหมดนี้มีผลต่อปัญหาดังกล่าวได้โดยตรง
อย่างไรก็ตาม หากรถของคุณมีอาการดังกล่าว ควรต้องรีบนำรถเข้าไปยังศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็กอย่างละเอียดว่าปัญหาพวงมาลัยเพาเวอร์หนักมาจากสาเหตุใดกันแน่ หลังจากนั้นถึงจะได้ทำการซ่อมแซมและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้จบไป เพราะถ้าหากฝืนขับต่อไปทั้งที่ยังมีอาการพวงมาลัยเพาเวอร์หนักอยู่ก็อาจทำให้สูญเสียการควบคุมที่อาจส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ การตรวจเช็กอย่างละเอียดจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะทำให้ผู้ขับขี่สามารถขับรถได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยในทุกเส้นทาง
อ่านเพิ่มเติม