คอยล์จุดระเบิด (Igition Coil) มีลักษณะเป็นทรงกระบอก เสียบอยู่บนปลั๊กไฟในห้องเครื่อง เมื่อเปิดฝากระโปรงจะเห็นทันที โดยทำหน้าที่คล้ายกับหม้อแปลงไฟฟ้า คือจะแปลงกระแสไฟฟ้าจาก 12V ให้เป็น 18,000V – 40,000V เพื่อจ่ายไฟให้หัวเทียนสำหรับการจุดระเบิดในห้องเผาไหม้ ปัจจุบัน ได้รับความนิยมอยู่ 2 ประเภท คือ
- Direct Coil : 1 คอยล์ จุดระเบิด 1 สูบ หากตัวใดตัวหนึ่งเสีย สามารถเปลี่ยนเฉพาะตัวที่ชำรุดได้
- Dual Coil : 1 คอยล์ จุดระเบิด 2 สูบ ต้องดึงไฟมาคู่กันจึงจะสามารถจุดระเบิดได้
อาการ คอยล์ เสีย เป็นอย่างไร ?
อาการ คอยล์ เสื่อม หรือชำรุด มีสาเหตุมาจากอายุการใช้งานที่มากขึ้น จึงเกิดการเสื่อมสภาพ หรือเปลี่ยนหัวเทียนเกินระยะ หรือใช้หัวเทียนผิดเบอร์ก็เป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังเกิดได้จากแรงสั่นสะเทือนจากการขับขี่ ความชื้นหรือน้ำที่ซึมเข้าไปจนทำให้เกิดการช็อต รวมถึงอุณหภูมิที่สะสมในห้องเครื่องเมื่อใช้เชื้อเพลิงที่มีความร้อนสูง
หากเกิดอาการ คอยล์ เสีย สามารถสังเกตได้ ดังนี้
- เครื่องอืดกว่าปกติ เร่งไม่ขึ้น ทำให้มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานสูง รถกินน้ำมันมากกว่าปกติ
- เครื่องยนต์สะดุดคล้ายอาการหัวเทียนบอด เป็นหนักขึ้นเมื่อคอมพ์แอร์ทำงาน เพราะกำลังไฟฟ้าไม่เพียงพอ
- เมื่อเร่งเครื่องขณะรอบเดินต่ำ จะมีอาการกระตุก ความเร็วล้อไม่คงที่ ส่งผลให้ ระบบความปลอดภัย ABS ทำงาน และอาจขึ้นไฟโชว์ที่แผงหน้าปัด
วิธีเช็คคอยล์หัวเทียนรถยนต์
เบื้องต้นทางศูนย์หรืออู่ซ่อมรถจะมีเครื่องมือเช็คกระแสไฟฟ้า ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าคอยล์ตัวไหนจ่ายไฟได้บ้าง หรือจ่ายออกมากี่โวลต์ หากพบว่าจ่ายกระแสไฟได้ต่ำกว่าค่ามาตรฐานก็แสดงว่าคอยล์ตัวนั้นเสีย ต้องเปลี่ยนใหม่
สำหรับวิธีการรักษาคอยล์จุดระเบิด เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ไม่เสื่อมสภาพเร็ว สามารถทำได้โดยเลี่ยงพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุ ดังนี้
- ไม่ควรใช้เชื้อเพลิงที่มีความร้อนสูง เช่น แก๊ส LPG หรือ NGV
- อย่าฉีดน้ำเข้าไปในห้องเครื่อง เนื่องจากน้ำที่ซึมเข้าไปจะทำให้เกิดการช็อตและรั่วของกระแสไฟฟ้า
- เมื่อขับรถผ่านลูกระนาดหรือทางขรุขระ ควรขับด้วยความเร็วต่ำ เพื่อลดการสั่นสะเทือนภายในเครื่องยนต์ที่อาจทำให้คอยล์เสื่อมสภาพเร็วขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังควรเปลี่ยนคอยล์หัวเทียนเมื่อครบระยะเวลาการใช้งาน ซึ่งปกติแล้ว คอยล์จุดระเบิดจะมีอายุการใช้งานอยู่ที่ประมาณ 100,000 กิโลเมตรเป็นอย่างต่ำ
อ่านเพิ่มเติม