สำหรับผู้ที่มีรถทุกคนคงรู้กันเป็นอย่างดีว่าใบขับขี่นั้นมีความสำคัญต่อผู้ใช้รถมากขนาดไหน เพราะไม่ว่าจะเตรียมตัวออกจากบ้านเมื่อไหร่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอยู่เสมอนั่นก็คือไม่ควรลืมใบขับขี่ไว้อย่างเด็ดขาด หลายคนจึงเลือกนำใบขับขี่ติดไว้กับกระเป๋าเงินอยู่เสมอเพื่อกันลืมไว้ที่บ้านหรือที่อื่น ๆ แล้วรู้หรือไม่ว่าใบขับขี่นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ประเภทเดียวเท่านั้น เพราะใบขับขี่นั้นมีมากมายหลากหลายประเภทที่กรมการขนส่งทางบกได้ออกให้ตามลักษณะของยานพาหนะที่แตกต่างกัน วันนี้มาดูกันว่าใบขับขี่มีทั้งหมดกี่แบบ แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไรบ้าง และใบขับขี่ บ.1-4 คือ อะไร ตามไปไขคำตอบพร้อมกันได้ในบทความนี้
ใบขับขี่ คืออะไร
ใบขับขี่ หรือใบอนุญาตขับรถ คือบัตรที่กรมการขนส่งทางบกทำการออกให้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวมีคุณสมบัติในการขับขี่รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ โดยผ่านการอบรมข้อกฎหมายจราจรและผ่านการทดสอบปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อย รวมทั้งใบขับขี่ยังเป็นเอกสารทางราชการที่มีวันหมดอายุ ซึ่งจะต้องดำเนินการต่ออายุใบขับขี่ก่อนที่จะถึงวันสิ้นอายุ โดยปัจจุบันวิธีและขั้นตอนของการต่อใบขับขี่นั้นเปลี่ยนไปมากพอสมควร เนื่องด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทางกรมการขนส่งทางบกก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและปรับขั้นตอนการต่อใบขับขี่ให้สอดคล้องกับวิถี New Normal มากยิ่งขึ้น โดยใบขับขี่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ประเภทส่วนบุคคล (บ.) สำหรับใบขับขี่ประเภทแรกคือ ใบอนุญาตส่วนบุคคล โดยส่วนใหญ่แล้วจะถูกออกให้ใช้เพื่อการขนส่งส่วนบุคคลที่มีแผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีขาว ตัวอักษรและตัวเลขมีสีดำ
- ประเภททุกประเภท (ท.) ต่อมาประเภทที่สองคือใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถประเภททุกประเภท โดยจะใช้สำหรับรถสาธารณะที่มีแผ่นป้ายทะเบียนพื้นสีเหลือง สามารถใช้ทดแทน ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลชั่วคราว และใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถสาธารณะได้
ใบขับขี่แต่ละชนิดมีอะไรบ้าง
ใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราว
สำหรับ ใบอนุญาตขับรถส่วนบุคคลชั่วคราว หรือใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราวคือใบขับขี่สำหรับคนที่เพิ่งเคยไปทำเป็นครั้งแรกและยังไม่เคยมีใบขับขี่มาก่อน โดยถูกแบ่งย่อยออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราว 2 ปี ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อชั่วคราว 2 ปี และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราว 2 ปี ซึ่งผู้ทำจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และมีค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายราคา 100 บาท
ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล
เป็นใบอนุญาตขับขี่รถที่จะได้หลังจากการใช้ใบขับขี่แบบชั่วคราวครบ 1 ปี ซึ่งจะต้องมาดำเนินเรื่องขอทำใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล โดยจะมีอายุการใช้งานได้ยาวถึง 5 ปี และมีค่าธรรมเนียมราคา 500 บาท
ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล
สำหรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล หรือรถตุ๊กตุ๊กมีเงื่อนไขเดียวกันกับชนิดอื่นคือเริ่มต้นด้วยการใช้แบบชั่วคราว หลังจากนั้นเปลี่ยนไปใช้แบบ 5 ปี โดยจะมีค่าธรรมเนียมราคา 250 บาท
ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ
ใบขับขี่ชนิดนี้ออกให้สำหรับผู้ที่มีความต้องการประกอบอาชีพขับรถยนต์ขนส่งสาธารณะ โดยจะต้องได้รับใบขับขี่ชั่วคราวมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือมีใบขับขี่ชนิดส่วนบุคคลอยู่ และจะต้องมีอายไม่ต่ำกว่า 22 ปี โดยมีค่าธรรมเนียมราคา 300 บาท
ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ
ใบขับขี่ชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพขับรถยนต์สามล้อสาธารณะหรือรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งจะต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคลมาแล้ว 1 ปี หรือแบบตลอดชีพ และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปี มีค่าธรรมเนียมราคา 150 บาท
ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์
หลายคนที่ขับรถมอเตอร์ไซค์คงคุ้นเคยกับบัตรชนิดนี้กันเป็นอย่างดี เป็นระบบเดียวกันกับชนิดอื่นคือเริ่มต้นจากชั่วคราวแล้วกลายไปเป็นชนิด 5 ปี หรือต้องการต่ออายุใบขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล โดยมีค่าธรรมเนียมราคา 250 บาท
ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ
สำหรับชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยจะต้องได้รับใบขับขี่จักรยานยนต์ชั่วคราวมาแล้ว 1 ปี หรือมีใบขับขี่ส่วนบุคคลอยู่แล้ว และมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะอายุ 3 ปี มีค่าธรรมเนียม 150 บาท
ใบอนุญาตขับรถบดถนน
สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถบดถนนจะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความปลอดภัยและมารยาทในการขับขี่ และจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีค่าธรรมเนียม 250 บาท
ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์
สำหรับผู้ที่ต้องขอใบขับขี่ชนิดนี้เพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ส่วนใบขับขี่ชนิดนี้มีอายุ 5 ปี และมีค่าธรรมเนียม 250 บาท
ใบอนุญาตขับรถชนิดอื่น
สำหรับใบขับขี่ชนิดนี้คือใบสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาทั้งหมด โดยจะมีอายุ 5 ปี และมีค่าธรรมเนียม 100 บาท
ใบขับขี่สากล
สำหรับใบขับขี่สากลหรือใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ ผู้ที่สามารถทำใบขับขี่ชนิดนี้ได้จะต้องมีใบขับขี่รถส่วนบุคคลชนิด 5 ปี หรือตลอดชีพแล้ว ถึงจะสามารถยื่นคำขอทำเรื่องได้ โดยมีอายุการใช้งาน 1 ปี ค่าธรรมเนียม 500 บาท
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้ทราบกันไปแล้วว่าใบขับขี่แต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง สิ่งสำคัญที่สุดคือการพกใบขับขี่ทุกครั้งเมื่อขับรถ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ก็ตาม เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่ได้พกแล้วบังเอิญถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจจะต้องถูกเรียกและเสียค่าปรับโดยใช่เหตุ สุดท้ายอย่าลืมขับรถอย่างปลอดภัย เคารพกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน
อ่านเพิ่มเติม