รถยนต์ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ใช้ระบบเกียร์ออโต้ ในบทความนี้เราขอแนะนำวิธีการขับรถเกียร์ออโต้สำหรับมือใหม่หัดขับ มาดูกันเลยว่า ขับรถเกียร์ออโต้ ยากไหม ขับรถเกียร์ออโต้ ใช้กี่เท้า และเทคนิคต่างๆ ต้องฝึกยังไง
ขับรถเกียร์ออโต้ ยากไหม?
ปัจจุบันผู้ใช้รถส่วนใหญ่จะเลือกใช้รถยนต์เกียร์ออโต้เพราะว่าขับรถเกียร์ออโต้จะง่ายกว่าและสะดวกสบายกว่าการขับรถเกียร์ธรรมดา รถยนต์ในท้องถนนส่วนมากเป็นรถยนต์เกียร์ออโต้ โดยเฉพาะในเมือง การขับรถในเมืองเต็มไปด้วยสภาพการจราจรที่ติดขัด รถยนต์เคลื่อนตัวได้อย่างช้าๆ เพราะปัญหา รถติด ซึ่งการขับรถด้วยเกียร์ออโต้จะช่วยให้ผู้ขับรถขับอย่างสบายมากขึ้น ไม่ต้องคอยเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆ เกียร์ออโต้ช่วยให้การวางตัวของเท้าง่ายขึ้น ทำให้ไม่เมื่อยล้าเท้า เป็นข้อดีของรถยนต์เกียร์ออโต้
มือใหม่หัดขับรถเกียร์ออโต้ ต้องศึกษาอะไรก่อน?
ก่อนที่จะขับรถเกียร์ออโต้ ครั้งแรก เราต้องรู้จักตำแหน่งต่างๆของเกียร์ออโต้ ดังนี้
- P (Parking) ใช้ สำหรับจอดรถ ซึ่งจะล็อคล้อไว้ไม่ให้รถเคลื่อน โดยเราจะเปลี่ยนเกียร์มาที่ P เมื่อรถจอดนิ่งสนิทแล้วและต้องการดับเครื่อง เลิกใช้งาน หรือเมื่อต้องการจอดรถบนทางลาดชัน (ข้อแนะนำ : ควรดึงเบรคมือ เสริมด้วย เพื่อป้องกันเกียร์เสียหาย ถ้าถูกชนท้าย) นอกจากนั้น ก่อนสตาร์ทรถ ตำแหน่งเกียร์ควรจะอยู่ที่ P เช่นเดียวกัน
- R (Reverse) คือ เกียร์ถอยหลัง เมื่อเกียร์มาอยู่ที่ตำแหน่ง R นี้แล้ว รถจะถอยหลังไปได้เองอย่างช้าๆ โดยไม่ต้องเหยียบคันเร่งเลย (ข้อแนะนำ: ขณะกำลังถอยหลัง ไม่ควรเหยียบคันเร่ง เพราะจะทำให้รถถอยหลังไปอย่างรวดเร็ว อาจจะชนคนได้ ดังนั้นควรวางเท้าไว้ที่บนแป้นเบรค เพื่อเตรียมพร้อมในการเหยียบเบรค ขณะทำการถอยหลัง)
- N (Neutral) คือ เกียร์ว่าง ใช้ เมื่อต้องการจอดรถไว้ชั่วคราว เช่น ขณะจอดรถติดไฟแดง และเมื่อเกียร์อยู่ในตำแหน่ง N นี้ รถจะสามารถถูกเข็นไปได้ (เวลาที่เราจอดรถขวางหน้ารถคันอื่นๆ ตามห้าง ควรใส่เกียร์ว่าง และปลดเบรคมือออกด้วย)
- D คือ เกียร์เดินหน้า ใช้ในการขับขี่ปกติ โดยเมื่อเปลี่ยนเกียร์มาที่ D แล้ว รถจะเริ่มออกตัว แล่นไปเองอย่างช้าๆ และเมื่อเหยียบคันเร่ง รถจะเริ่มเปลี่ยนเกียร์เองอัตโนมัติ โดยเริ่มจากเกียร์ 1 แล้วไปเกียร์ 2 แล้วไปเกียร์ 3 จนถึงสูงสุดที่เกียร์ 4 ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถ (ปกติ ถ้าวิ่งบนทางราบ เราจะใช้เกียร์ D นี้บ่อยสุด)
- ตำแหน่ง 2 หรือ D2 คือ เกียร์เดินหน้า 2 Speed ใช้เมื่อต้องการขับรถขึ้น-ลงเนิน หรือเขาที่ค่อนข้างชัน หรือ ขับขึ้น-ลง ตามห้าง โดยรถจะเปลี่ยนเกียร์เองอัตโนมัติ โดยเริ่มจากเกียร์ 1 จนถึงสูงสุดที่เกียร์ 2
ขับรถเกียร์ออโต้ ใช้กี่เท้า?
ในการขับรถเกียร์ออโต้อ ควรใช้เท้าขวาเพียงเท้าเดียวในการควบคุมคันเร่งและเบรก จะได้ไม่มีปัญหาในการควบคุมความเร็วของตัวรถ (เร่งคือเร่ง เบรกคือเบรก ไม่สับสน) และช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ตั้งใจ
วิธีขับรถเกียร์ออโต้ สำหรับมือใหม่
ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมท่านั่ง
- นั่งให้สบาย ขาเหยียดได้พอดี ไม่ชิดหรือไกลเกินไป
- ขับเกียร์ออโต้ใช้แค่เท้าขวา ไม่ควรใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรก
- ใช้มือซ้ายเข้าเกียร์
ขั้นตอนที่ 2 การเข้าเกียร์
- ก่อนขับ เกียร์ต้องอยู่ในตำแหน่ง P เสมอ
- เหยียบเบรกด้วยเท้าขวา เลื่อนเกียร์ด้วยมือซ้ายไปที่ D แล้วค่อยๆ ยกเท้าขวา รถจะค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า
- เมื่อรถขยับแล้ว เหยียบคันเร่งด้วยเท้าขวา ให้ได้ความเร็วที่เหมาะสม
- เมื่อต้องจอดหรือหยุดติดไฟแดง ยกคันเร่ง แตะเบรกจนรถหยุดสนิท แล้วเปลี่ยนเกียร์ด้วยมือซ้ายไปที่ P หรือ N (เกียร์ว่าง)
- เมื่อจะถอยหลัง ต้องจอดรถนิ่งสนิท เหยียบเบรกค้างไว้ แล้วเปลี่ยนเกียร์ด้วยมือซ้ายไปที่ R ค่อยๆ ยกเท้าจากเบรก รถจะค่อยๆ ไหลถอยหลัง
สิ่งที่ต้องรู้เมื่อใช้รถเกียร์อัตโนมัติ
- นอกจากวิธีขับแล้ว ต้องรู้เรื่องตำแหน่งเกียร์ว่าง N ด้วย เพราะถ้าจอดรถและเข้าเกียร์ว่าง อาจไม่สามารถบิดกุญแจออกมาได้ ให้เข้าเกียร์ P ดับเครื่องยนต์ แล้วดึงกุญแจออกตามปกติ จากนั้นสังเกตที่ฐานเกียร์ จะมีรูเล็กๆ พอดีกับกุญแจ หรือปุ่มเล็กๆ กดลงแล้วขยับเกียร์ไปที่ N รถจะสามารถขยับหรือเข็นได้ แต่บางรุ่นบางยี่ห้อทำไม่ได้ เช่น Benz, Bmw ควรหาที่จอดเข้าซองให้เรียบร้อย
- Kick Down คือการเหยียบคันเร่งลงไปอย่างรวดเร็ว คล้ายการเชนเกียร์ลงของรถเกียร์ธรรมดา ทำให้เกียร์ต่ำลง 1 ระดับ รอบเครื่องยนต์สูงขึ้น ใช้สำหรับเร่งแซง แต่ไม่ควรขับ Kick Down ตลอดทาง เพราะจะทำให้เกียร์อัตโนมัติร้อนและเสียหายได้ในระยะยาว แถมยังกินน้ำมันมากอีกด้วย
ฝึกขับรถเกียร์ออโต้ เบรค คันเร่ง
สำหรับมือใหม่หัดขับรถเกียร์ออโต้ เราขอแนะนำให้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อฝึกขับรถเกียร์ออโต้ เบรค คันเร่ง ให้คล่อง เมื่อขับรถเกียร์ออโต้ ครั้งแรก
- การสตาร์ทรถ ตำแหน่งเกียร์ควรอยู่ที่ P ใช้เท้าขวาเหยียบเบรคไว้ แล้วก็บิดกุญแจสตาร์ท
- การขับเดินหน้า ขณะที่เท้ายังคงเหยียบเบรค ให้เลื่อนตำแหน่งเกียร์มาเป็นตำแหน่ง D หรือ D4 จากนั้นค่อยๆ ผ่อนเท้าออกจากเบรค ซึ่งตอนนี้รถจะแล่นไปได้เองอย่างช้าๆ แล้วเราจึงค่อยๆ เหยียบคันเร่งเพื่อให้ได้ตามความเร็วที่เราต้องการ
- การขับขึ้นลง ทางลาดชัน ผ่อนความเร็วรถแล้วเลื่อนเกียร์มาที่ตำแหน่ง L แล้วก็เหยียบคันเร่งไปตามความต้องการ
- การเปลี่ยนตำแหน่งเกียร์ L มาเป็น D ผ่อนความเร็ว แล้วเลื่อน มาที่ตำแหน่ง D แล้วขับไปตามปกติ
- การจอดรถ ค่อยๆ ผ่อนความเร็วรถเมื่อรถจอดสนิทก็เลื่อนตำแหน่งมาที่ P ใส่เบรคมือ ดับเครื่อง
- การจอดรถในลักษณะกีดขวางคันอื่น หรือการจอดแบบปลดเกียร์ว่าง เมื่อจอดปกติตามข้อ 3 แล้ว แต่ไม่ต้องดึงเบรคมือขึ้นก็กดปุ่มเล็กๆ แล้วเลื่อนตำแหน่งเกียร์ไปที่ N
- การจอดกรณีติดไฟแดง เหยียบเบรคค้างไว้แล้วเลื่อนเกียร์มาที่ตำแหน่ง N
- การถอยหลัง เหยียบเบรคค้างไว้แล้วเลื่อนเกียร์มาที่ตำแหน่ง R ค่อยๆ ผ่อนเบรคเพราะรถจะถอยได้เอง แต่ถ้าต้องการให้ถอยเร็วหรือกรณีถอยขึ้นที่สูงก็อาจเหยียบคันเร่งแบบค่อยๆ เหยียบ
- L (Low) คือ เกียร์ 1 ซึ่งจะใช้ในการขับขึ้น-ลง เขาที่สูงชันมากๆ เมื่อลงเขาด้วยเกียร์ L จะเป็นการใช้เครื่องยนต์ช่วยเบรค เพื่อลดการเหยียบเบรค เพราะอาจจะทำให้ผ้าเบรคหมดเร็วได้
สรุปแล้ว การขับรถเกียร์ออโต้สำหรับมือใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด เพียงแค่นึกถึงหลักการพื้นฐาน ฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ มีความอดทน และใส่ใจกับสภาพแวดล้อมรอบตัว คุณก็สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจ
ดูเพิ่มเติม
เลือกซื้อรถมือสองราคาไม่เกิน 50,000 บาท รุ่นไหนดี
ฤกษ์ออกรถปี 2567 ตามวันเกิด ออกรถวันไหนดี